ไปทำความรู้จัก DLNA เทคโนโลยีไร้สายที่ช่วยให้อุปกรณ์ต่างชนิดกัน ข้ามค่ายกัน
สามารถส่งข้อมูลมัลติมีเดีย
สุดฉาวที่เกี่ยวข้องกับกรณีภาพโป๊กลางที่ประชุมรัฐสภาไทย
กับปัญหาการการแชร์ข้อมูลโดยไม่ระวังจะมีผลเสีย...
และแล้ว กรณีปัญหา
"ภาพโป๊" โผล่กลางจอภาพของที่ประชุมรัฐสภาไทยก็ได้คำตอบว่า
เกิดจากการส่งข้อมูลแบบไร้สายจากอุปกรณ์พกพาอย่างมือถือหรือแท็บเล็ต
เข้ามายังจอภาพของสภาฯ โดยตรง
ไม่ได้เกิดจากการสลับสัญญาณผิดของเจ้าหน้าที่ห้องควบคุมตามที่คาดกันไว้ในตอนแรก
ผมคงไม่ลงรายละเอียดของปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่องภาพโป๊นะครับ ข่าวต่างๆ
ตามสื่อทั่วไปเขียนกันไปเยอะแล้ว แต่ในที่นี้จะขออธิบายหลักการทำงานของมัน
และข้อดี-ข้อเสีย
รวมถึงประเด็นที่น่าจับตาของเทคโนโลยีตัวนี้
สำหรับผู้อ่านที่สนใจ "ขั้นตอน"
ของภาพโป๊ว่าไปโผล่ในสภาฯ ได้อย่างไร สามารถอ่านได้จาก http://www.blognone.com/node/31880 หรือจะดูคลิปที่ทีมงานรายการ
"แบไต๋ไฮเทค" ไปถ่ายทำไว้ ซึ่งละเอียดดีมากอยู่แล้วครับ
ในยุคปัจจุบันที่อุปกรณ์สารพัดชนิดกลายเป็น "สมาร์ท" หรืออุปกรณ์แสนฉลาดกันไปหมด
ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหรือสมาร์ททีวีก็ตามที
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตามมาอย่างรวดเร็วคือเทคโนโลยีที่จะช่วยให้อุปกรณ์ตระ
กูลสมาร์ทพวกนี้ส่งข้อมูลข้ามกันได้
ตัวอย่างเช่น
นั่งดูหนังบนคอมพิวเตอร์
แต่ดูไปได้ครึ่งเรื่องต้องออกจากบ้าน
ก็เพียงแค่สั่งย้ายหนังให้ไปเล่นต่อบนมือถือหรือแท็บเล็ต
แล้วเราก็นั่งดูต่อบนรถเมล์-แท็กซี่ได้ทันที
ถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอจากสมาร์ทโฟน แล้วนำมาแชร์ให้เพื่อนๆ
ดูผ่านทีวีจอใหญ่ๆ
(จะได้ไม่ต้องแย่งกันมุงจอภาพเล็กๆ)
การส่งข้อมูลข้ามกันระหว่างอุปกรณ์พวกนี้
เดิมทีเราใช้ระบบมีสาย ซึ่งไม่สะดวกเวลาเชื่อมต่อ
ภายหลังจึงพัฒนามาเป็นระบบไร้สายให้สะดวกขึ้น
ระบบไร้สายที่ว่านี้สามารถใช้คลื่นอินฟราเรดแบบรีโมตทีวีก็ได้
(แต่ไม่สะดวกเพราะต้องเล็งแนวแสงให้ตรงกัน) หรืออาจใช้คลื่นวิทยุผ่านเครือข่าย
Wi-Fi ที่ใช้กันแพร่หลายในบ้านและสำนักงานก็ได้
เทคโนโลยีการส่งข้อมูลผ่าน
Wi-Fi ไปยังอุปกรณ์ตระกูลสมาร์ทนี้มีชื่อมาตรฐานในวงการอุตสาหกรรมว่า DLNA ครับ
ย่อมาจาก Digital Living Network Alliance
ซึ่งเป็นชื่อกลุ่มของบริษัทด้านไอทีที่มาร่วมกันสร้างมาตรฐานนี้
(บางบริษัทจะใช้ชื่อทางการค้าที่ต่างกันออกไป เช่น ซัมซุงจะเรียกมันว่า AllShare
แทน แต่กระบวนการทำงานเหมือนกัน)
DLNA จะช่วยให้อุปกรณ์ต่างชนิดกัน
ข้ามค่ายกัน สามารถส่งข้อมูลมัลติมีเดีย ภาพ วิดีโอ เสียง เกม ข้ามกันไปมาได้
โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นอุปกรณ์ยี่ห้อเดียวกันเท่านั้น
(ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีของสภาฯ นี่เอง เพราะทีวียี่ห้อแอลจี
แต่อุปกรณ์ฝั่งเครื่องส่งน่าจะเป็นมือถือซัมซุง)
ช่วยให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องถูกบังคับให้ซื้อสินค้าจากบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
เพียงอย่างเดียว ซื้อข้ามกันแต่นำมาใช้ร่วมกันได้
ซึ่งเป็นเรื่องดีต่อผู้บริโภค
แต่เมื่อ DLNA
ทำให้การแชร์ข้อมูลไปยังอุปกรณ์หลายๆ เครื่องทำได้ง่ายขึ้นมาก
ก็มีข้อเสียในมุมกลับกันคือข้อมูลบางอย่างที่ไม่อยากแชร์
อาจจะถูกแชร์ออกไปโดยไม่ตั้งใจด้วย
ซึ่งกรณีของรัฐสภาไทยก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่แสดงให้เห็นว่า
การแชร์ข้อมูลโดยไม่ระวังจะมีผลเสียแบบนี้เอง
ตามหลักแล้ว อุปกรณ์ที่รองรับ DLNA สามารถ "ปิด"
ไม่รับการแชร์ข้อมูลจากเครื่องอื่นได้ หรือจะตั้งค่าว่าถ้าจะแสดงภาพขึ้นจอ
ต้องมีคนไปกดรับที่จอภาพก่อนเท่านั้น (ซึ่งกรณีของสภาฯ ไม่ต้องกดรับ ขึ้นจอได้เลย)
เพียงแต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ซื้ออุปกรณ์พวกนี้ไปมักไม่รู้
และไม่ได้เปลี่ยนแปลงค่าใดๆ ที่ตั้งมาจากโรงงานตั้งแต่แรก
สุดท้าย
ผมอยากจะชี้ให้คุณผู้อ่านเห็นทิศทางของเทคโนโลยีว่า อุปกรณ์ไฮเทครุ่นใหม่ๆ
จะเริ่มหลอมรวมเข้ากันมากขึ้น ทำงานประสานกัน ไม่แยกเป็นเอกเทศแบบเดิม
ซึ่งแม้จะมีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยข้อมูลส่วนตัวหลายๆ
อย่างของเราก็จะกระจายตัวไปยังอุปกรณ์เหล่านี้ได้มากขึ้นตามมา
ซึ่งไม่มีวิธีแก้อื่นนอกจากเราต้องเป็นฝ่ายระมัดระวังเองว่า เปิดตัวเลือกใดๆ
ที่จะให้คนภายนอกมาล้วงความลับของเราไปได้หรือไม่ครับ
มาร์ค Blognone
|