สวลี เสนาพิทักษ์
สำหรับท่านทีเป็นนักช็อปทั้งหลาย ท่านเคยสังเกตหรือไม่ว่า ทำไม? สินค้าที่ดูหรูหรา ทั้งหน้าตาและราคา ที่เห็นอยู่ตาม ห้างสรรพสินค้าชื่อดังต่างๆ จึงสามารถพบเห็นได้ในเวลาเดียวกัน ตามสถานที่ขายสินค้าราคาถูก หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ตลาดนัด
เซรามิก เป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ที่พบเห็นกันบ่อยในกรณีเช่นนี้ หากดูจากลักษณะภายนอกแล้วจะพบว่า “ตำหนิ” เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้สินค้าเหล่านี้มีราคาต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของตำหนินั้นๆ เช่น
-
ผิวผลิตภัณฑ์เป็นเม็ดนูน เกิดจากมีสิ่งสกปรกตกลงบนผิวหน้าเคลือบ สิ่งสกปรกเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอนินทรีย์สารที่ตกลงไปก่อนการเผาหรือระหว่างการเผาเคลือบ
-
ผิวผลิตภัณฑ์เป็นรูเข็ม เกิดจากฟองอากาศในเนื้อดินดันออกมาภายนอกเคลือบในระหว่างเผา ทำให้ผิวผลิตภัณฑ์ไม่เรียบ โดยจะสังเกตเห็นเป็นรูลึกที่บริเวณผิวของผลิตภัณฑ์
-
ผิวผลิตภัณฑ์เป็นคลื่น เกิดจากความหนาของการชุบเคลือบไม่เท่ากัน
-
ผิวผลิตภัณฑ์มีลักษณะเหมือนผิวส้ม เกิดจากการชุบเคลือบดดยวิธีการพ่นที่ไม่ดีพอ ส่วนผสมของเคลือบบนผิวผลิตภัณฑ์เกาะติดกันไม่สม่ำเสมอ หรืออาจมีฟองอากาศอยู่ข้างใต้ชั้นเคลือบ
-
ผิวผลิตภัณฑ์มีลักษณะด้าน เกิดจากผิวเคลือบเกิดการระเหย ทำให้สูญเสียความเป็นมันวาว มักเกิดระหว่างการเผาเคลือบครั้งที่สอง
-
ผิวผลิตภัณฑ์เกิดจุดสีที่ต่างไปจากสีของเคลือบ เกิดจากการปนเปื้อนของแร่ที่ทำให้สี เช่น เหล็กทำให้เกิดจุดสีน้ำตาล ทองแดงทำให้เกิดจุดสีเขียว
-
ผิวของผลิตภัณฑ์มีสีไม่สม่ำเสมอ เกิดจากความผิดพลาดในการควบคุมสภาวะการเผา หรือส่วนผสมของสีไม่เข้ากัน
-
ผิวของผลิตภัณฑ์มีลักษณะแตกลายงา เกิดจากเคลือบมีสัมประสิทธ์การขยายตัวมากกว่าเนื้อดินปั้น เมื่อเย็นตัวลงจะหดตัวมากกว่าเนื้อดินปั้น จึงทำให้เกิดการราน หรือลายงา
โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเช่นที่กล่าวมานี้ ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่อาจไม่สวยงาม เป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้บริโภค จัดเป็นผลิตภัณฑ์มีตำหนิที่มีคุณภาพ หรือเกรดต่ำกว่ามาตรฐาน หรือที่เรียกว่า “เซรามิก…ตกเกรด” นั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
- ปรีดา พิมพ์ขาวขำ, เซรามิกส์, สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 4, 2539.
|
|