ปริญญา พวงนาค
ความแข็งแรง (Strength) ของวัสดุ เป็นการบ่งบอกถึงความคงทนต่อการผิดรูปของวัสดุ ที่มีผลของแรง มากระทำต่อวัสดุนั้น ซึ่งวัสดุแต่ละชนิดก็จะมีความแข็งแรงที่แตกต่างกันออกไป เช่น โลหะมีความแข็งแรง มากกว่าพลาสติก และวัสดุประเภทไม้ ในขณะที่พลาสติกกลับมีความยืดหยุ่นที่สูงกว่า ดังนั้นการพิจารณาเลือกใช้ วัสดุเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องดูความเหมาะสมของลักษณะการนำไปใช้งานเพื่อให้ได้ประโยชน์คุ้มค่า และใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า ตลอดถึงเป็นการลดต้นทุนการผลิตด้วย ในการพัฒนาสมบัติของวัสดุ และการนำวัสดุ กลับมาใช้ใหม่ (recycle) ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ได้ทำการวิจัยและค้นคว้าอยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้ได้วัสดุที่มีคุณภาพสูง รวมไปถึงเป็นการลดปริมาณขยะ ที่เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น วัสดุต้นแบบเดิม หรือวัสดุที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ ก่อนการนำไปใช้งานจริง จำเป็นต้องทราบถึงค่าความแข็งแรงก่อนทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อพิจารณาว่า วัสดุดังกล่าวนั้นมีความปลอดภัยพอ ที่จะนำไปใช้งานได้หรือไม่ วิธีที่นิยมใช้วิธีหนึ่งคือ ทดสอบความแข็งแรงของวัสดุ ด้วยเครื่อง Universal testing
เครื่อง Universal testing เป็นเครื่องมือทดสอบความแข็งแรงของวัสดุ ที่ใช้ทดสอบวัสดุที่มีลักษณะเป็นชิ้นตัวอย่าง (specimen) โดยเครื่องทดสอบสามารถควบคุม อัตราเร็วในการกระทำต่อชิ้นตัวอย่าง ไม่ว่าในรูปของการหาค่าแรงดึง แรงอัด แรงเฉือน แรงดัดโค้ง วิธีการทดสอบหาค่าแข็งแรงทั้ง 4 แบบนี้ก็มีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับประเภทของวัสดุ และลักษณะการนำไปใช้งาน ทุกการทดสอบจะต้องมีมาตรฐานเป็นตัวกำหนด เพื่อให้ได้ผลการทดสอบที่ถูกต้อง และเป็นบรรทัดฐานเพื่อเทียบเคียงผล มาตรฐานอ้างอิงที่นิยมใช้สำหรับการทดสอบ ได้แก่ มาตรฐานสมาคมอเมริกาสำหรับการทดสอบวัสดุ (American society for testing and materials, ASTM) มาตรฐานอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Japan industrial standard, JIS) เป็นต้น ซึ่งวัสดุที่ผ่านการทดสอบ ที่ได้มาตรฐานเหล่านี้ จะช่วยรับประกัน ให้ผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่งว่า วัสดุมีความแข็งแรง และเหมาะสม กับการนำไปใช้งานแต่ละประเภท
เอกสารอ้างอิง
- ศุภโชค หมื่นสิทธิ์, ฟิสิกส์ของวัสดุ, ศูนย์สื่อเสริมกรุงเทพ
- ปริญญา พวงนาค, เครื่องทดสอบความแข็งแรงของวัสดุ, เครื่องมื่อวิจัยทางวัสดุศาสตร์ : ทฤษฎีและหลักการทำงานเบื้องต้น, สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543, หน้า 179-194.
|
|