2. ผลงานทางด้านการวิจัย
สุริยุปราคาเต็มดวง 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411
ในยุคร่วมสมัยของพระองค์ท่านนั้น นักดาราศาสตร์กำลังสนใจ “ปัญหาของสามวัตถุ” (Three Body Problem) และ “ปัญหาของนานาวัตถุ” (N-Body Problem)
นักคิดที่เด่นในสมัยนั้นหรือก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้น จะทุ่มเทสติปัญญาเพื่อการหาวิธีคำนวณตำแหน่งดวงจันทร์ซึ่งโคจรรอบโลกภายใต้แรงรบกวนจากดวงอาทิตย์ และทั้งโลกและดวงจันทร์ขณะเมื่อโคจรรอบดวงอาทิตย์นั้น ก็ยังได้รับแรงรบกวนจากดาวเคราะห์ดวงอื่นด้วย
ดังนั้น จึงถือได้ว่ายุคของพระองค์ท่านนั้น โลกของวิทยาศาสตร์ถือการแก้ปัญหาทั้งสองนี้เป็นงานวิจัยหลักในสาขาดาราศาสตร์ ฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ปรากฎว่าพระองค์ท่านได้ทรงเข้าร่วมในงานวิจัยนี้ด้วยโดยได้ทรงทำการคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ซึ่งการคำนวณเช่นนี้จะต้องแบ่งขั้นตอนออกเป็น 3ขั้นคือ
ก. การคำนวณตำแหน่งของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ โดยใช้ทฤษฎีการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ (Theory of Lunar Motion) ซึ่งในสมัยนั้นยังดำเนินการศึกษาวิจัยกันอยู่ในต่างประเทศ
นักวิจัยร่วมสมัยของพระองค์ท่านที่ถือว่าเด่นมากคือ De Launay ได้ผลิตผลงานออกมาเป็นช่วงๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1860 ถึงปี ค.ศ. 1867 ซึ่งในช่วงเวลานี้ สันนิษฐานว่าพระองค์ท่านได้ทรงเริ่มต้นศึกษา Lunar Theory ประมาณปี ค.ศ. 1863 (พ.ศ. 2406) ในสมัยเดียวกันกับที่นักดาราศาสตร์ที่เด่นที่สุดของยุคนั้นกำลังทำการศึกษาวิจัยอยู่เช่นกัน ซึ่งปรากฎว่าพระองค์ท่านทรงสามารถทำการคำนวณตำแหน่งเทหวัตถุหลักของการเกิดสุริยุปราคานี้ได้อย่างถูกต้อง
ข. หลังจากทำการคำนวณตำแหน่งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ได้แล้วจะต้องทำการคำนวณเพื่อตรวจสอบว่า จะมีโอกาสเกิดอุปราคาได้หรือไม่ถ้าไม่ได้ก็ผ่านไป ถ้าสามารถเกิดได้ถึงจะเข้าสู่การคำนวณขั้นต่อไป คือ
ค. ทำการคำนวณว่าการเกิดอุปราคาครั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้คือ การเกิดสุริยุปราคาจะมีลักษณะอย่างไร เช่น เป็นชนิดมืดหมดดวงหรือชนิดวงแหวน หรือชนิดมีดบางส่วน และจะเห็นได้ที่ไหนเวลาเท่าไรถึงเท่าไร ตามระบบเวลามาตรฐานซึ่งจะต้องนำมาใช้ในการคำนวณด้วยตลอดตั้งแต่ต้น
ปรากฎว่าพระองค์ท่านได้ทรงกระทำการคำนวณได้อย่างถูกต้องทั้งในลักษณะของการเกิด เวลาที่เกิด และตำบลที่จะสังเกต ซึ่งจากการทำการเปรียบเทียบจากหลักฐานการคำนวณของหอดูดาวกรีนิชแล้วปรากฎว่าระบบคำนวณของพระองค์ท่านถูกต้อง แต่ตัวเลขของพระองค์ไม่มีในระบบของกรีนิช