รูปแบบพระเมรุ
แบบร่างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น ได้ระบุว่าใช้ต้นแบบร่างมาจากแบบร่างของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยทำเป็นทรงปราสาท ที่หน้าบันทั้ง ๔ ด้าน จะมีพระลัญจกรของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอประดิษฐานอยู่
คุณหญิงไขศรี เผยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเลือกแบบร่างพระเมรุฉัตร ๗ ชั้นในพระราชพิธี พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงพอพระราชหฤทัยหลังทอดพระเนตรแบบร่างพระเมรุ พร้อมพระราชทานคำแนะนำให้ขยายทางเดินให้กว้างมากขึ้น
นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ประธานคณะทำงานในการจัดสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ของกรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ออกแบบร่างพระเมรุที่จะใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่า
แบบร่างที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ทรงมีพระราชวินิจฉัยมี ๒ แบบร่าง คือ
-
รูปแบบยอดปราสาท
-
แบบยอดปรางค์
ซึ่งพระองค์ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ใช้แบบร่างยอดปราสาท จึงได้นำเสนอแบบร่างพระเมรุดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
“สำหรับรูปแบบพระเมรุยอดปราสาท ได้ศึกษาจากการออกแบบพระเมรุมาศของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยยึดเค้าโครงพระเมรุมาศของสมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี มาเป็นต้นแบบโดยแนวคิดหลักได้ยึดถือความเชื่อ เรื่องเขาพระสุเมรุ ตามแบบโบราณราชประเพณี ด้วยการจำลองปราสาท ซึ่งเปรียบเสมือนสถานที่สถิตของเหล่านางฟ้า เทวดา มาเป็นตัวองค์ของพระเมรุ ส่วนยอดพระเมรุ ประกอบด้วย ยอดชั้นเชิงกลอน ๕ ชั้น ต่อยอดด้วย ชั้นบัวคลุ่มจนถึงปลายยอดประดับฉัตร ๗ ชั้น
เอกลักษณ์ของพระเมรุ
เอกลักษณ์ของพระเมรุ ที่จะใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อยู่ที่หน้าบันทั้ง ๔ ทิศ เนื่องจากได้อัญเชิญตราพระราชลัญจกร กว ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มาประดิษฐานที่หน้าบันของพระเมรุทั้ง ๔ ด้านด้วย”
การออกแบบร่างพระเมรุครั้งนี้ ได้คำนึงถึงสถาปัตยกรรมไทย ตามแบบโบราณ
ราชประเพณี เพื่อให้พระเมรุมีความงดงามเปรียบเสมือนสรวงสวรรค์ เพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อย่างสมพระเกียรติมากที่สุด
ทั้งนี้ แบบร่างพระเมรุออกเป็นทรงปราสาท โดยมีอุดมคติที่ยึดเขาพระสุเมรุเป็นหลักในการออกแบบ ซึ่งมีความหมายว่า เป็นปราสาทอันเป็นที่สถิตของเทพยดา โดยหน้าบันจะมีพระลัญจกรของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประดิษฐานอยู่ ทั้ง ๔ ด้าน
พระเมรุของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะใช้ยอดปราสาท แต่อย่างไรก็ตามยอดพระเมรุมาศมีความแตกต่างกันหลายแบบ เช่น ยอดมณฑปสูงที่สุด รองลงมาคือ ยอดปราสาท และยอดเกี้ยวรองลงไป ซึ่งยอดเกี้ยวใช้ทำถวายสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชนนี
“ยอดพระเมรุมีหลายแบบ เช่น ยอดปรางค์ ยอดเจดีย์ แต่ละลักษณะนำมาใช้เป็นยอดเมรุมาศได้ทั้งนั้น แต่ขึ้นอยู่กับระดับศักดิ์ที่ทำให้แตกต่างกัน โดยเฉพาะยอดมณฑป จะใช้กับพระมหากษัตริย์เท่านั้น เพราะ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ , ๖ และ ๘
ใช้ยอดมณฑปที่แสดงถึงฐานานุศักดิ์ ที่ถือว่าสูงที่สุด”นอ.อาวุธกล่าว
กำลังคนที่ใช้ในการก่อสร้าง
สำหรับกำลังคนที่จะใช้ในการก่อสร้างจะเน้นในงานโครงสร้างเป็นหลักซึ่งจะใช้ระบบจ้างเหมาส่วนเป็นรายละเอียดในงานปราณีตศิลป์จะให้ทางกรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการ เช่น รูปเทวดา ฉัตรเครื่องสูง และ พระโกศจันทร์ เช่นเดียวกับครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชนนี จะใช้กำลังคนจำนวนมาก ที่สำคัญจะเปิดโอกาส ให้กับประชาชนทั่วไปให้เข้ามาช่วยสร้างพระเมรุด้วย เหมือนสมัยพระศรีนครินทราพระบรมราชนนี
ด้านโครงสร้าง จะใช้โครงสร้างที่ทำมาจากเหล็กและจะไม่ใช่ไม้เพราะไม้หายาก แต่ในช่วงสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชนนีใช้ไม้ทั้งหมด แต่คิดว่า ครั้งนี้จะเปลี่ยนวิธีการเพราะไม้หายาก อย่างไรก็ตามจะใช้โครงสร้างที่ทำมาจากเหล็กเป็นส่วนใหญ่ แต่อาจจะมีบางที่จะใช้ไม้อัดเข้ามาห่อหุ้มแทน เช่น เสา ซึ่งภายนอกอาจจะมองเห็นเป็นเสาไม้ใหญ่แต่ภายในเป็นเหล็กที่บุด้วยไม้อัด
สำหรับพระเมรุเป็นลักษณะสถาปัตยกรรม ที่มีชั้นเชิงกลอน ๕ ชั้น ก่อนจะมีฉัตร
ตามพระราชอิสริยศ แต่งานพระศพพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ครั้งนี้เป็นเศวตฉัตร ๗ ชั้น โดยมีเค้าร่างของแบบเดิมมาจากสมัยสมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรีที่เคยสร้างมา ยอมรับว่างดงามอย่างมาก แต่เชื่อมั่นว่า การก่อสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้จะไม่ลำบาก เพราะได้มีประสบการณ์จากการจัดสร้างพระเมรุของสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชนนี และพระเมรุนี้จะมีลิฟท์เพื่อใช้ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นไปบนพระเมรุมาศด้วย
ช่างสิบหมู่ปั้นใหม่ “เทวดาถือบังแทรก” ประดับพระเมรุพระพี่นางฯ
สำนักช่างสิบหมู่ปั้น “รูปเทวดาถือบังแทรก” ประดับพระเมรุ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ” ใหม่ หลังของเก่าเมื่อครั้งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จย่าเสื่อมสภาพหมดแล้ว พร้อมเผยการนำรูปปั้นเทวดามาประดิษฐานรอบพระเมรุ เพราะเชื้อพระวงศ์เปรียบเสมือนสมมติเทพ เมื่อสิ้นพระชนม์ก็จะต้องส่งเสด็จสู่สรวงสวรรค์ ซึ่งจะเป็นเทวดานั่ง 20 องค์ เทวดายืน 20 องค์
ทั้งนี้ การนำรูปปั้นเทวดามาประดิษฐานบริเวณโดยรอบพระเมรุ เพราะตามความเชื่อถือว่าเชื้อพระวงศ์เปรียบเสมือนสมมติเทพ เมื่อสิ้นพระชนม์ก็จะต้องส่งเสด็จสู่สรวงสวรรค์
ประสานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงขอพันธุ์ไม้ที่พระพี่นางโปรด
ทางกรมศิลปากร ทำหนังสือไปถึงมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เพื่อประสานขอพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับที่จะนำมาใช้ในงานภูมิสถาปัตยตกแต่งบริเวณโดยรอบพระเมรุ ซึ่งจะต้องหารือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงถึงการคัดเลือกพันธุ์ไม้สีที่เหมาะสมกับงานพระเมรุ รวมทั้งจะคัดเลือกพันธุ์ไม้อีกหลายชนิดที่ปลูกในอุทยานพระตำหนักดอยตุง จ.เชียงราย เพราะเป็นพันธุ์ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงโปรดเป็นพิเศษ ทั้งนี้ จะต้องหารือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้จัดเตรียมเพาะพันธุ์ไว้รองรับการนำมาตกแต่งบริเวณพระเมรุต่อไป และประสานไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อขอสนับสนุนพันธุ์ไม้ในการใช้ตกแต่งด้วย
กรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ๕ ชุด ดังนี้
-
คณะกรรมการฝ่ายจัดการพระราชพิธีพระราชเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
-
คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์และประสานงานการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยแต่งตั้งให้ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เป็นประธาน ทั้ง ๒ คณะ
-
คณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุ และบูรณะปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ โดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
-
คณะกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัย และการจราจร ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน
-
คณะกรรมการฝ่ายจัดทำจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึก ให้คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรม เป็นประธาน เพื่อประสานงานทำงาน
ขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก
http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K7138653/K7138653.html
|