Transit of Venus
ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์แห่งศตวรรษ “ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” 6 มิถุนายน 2555
ภาพปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เมื่อ 8 มิถุนายน 2547 โดยนายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์
ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่มนุษย์ให้ความสนใจมาช้านานแล้วไม่น้อยกว่าปรากฏการณ์จันทรุปราคาหรือสุริยุปราคา เพราะนอกจากจะเป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่พิเศษและหาชมได้ยากแล้ว การสังเกตการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ยังเป็นการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ที่ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์อย่างแม่นยำ ซึ่งจะเห็นได้จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มีการกล่าวถึงการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดังกล่าวมานานนับหลายศตวรรษ ในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 จะเป็นอีกวาระหนึ่งที่คนไทยจะได้เห็นปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เหนือฟ้าเมืองไทย ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ผู้ที่มีชีวิต ณ ปัจจุบันจะมีโอกาสได้เห็น เนื่องจากปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2660 หรืออีกกว่าหนึ่งศตวรรษในอนาคต
ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เป็นปรากฏการณ์ที่ดาวศุกร์เคลื่อนที่ผ่านแนวเส้นตรงที่เชื่อมระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้ดวงอาทิตย์ ดาวศุกร์ และโลก เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นจุดกลมเล็กเคลื่อนที่ผ่านดวงอาทิตย์ (ถ้าเปรียบเทียบขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์เท่ากับลูกบาสเกตบอล ขนาดของดาวศุกร์ที่ปรากฏผ่านหน้าจะมีขนาดปรากฏเท่ากับเม็ดถั่วเขียว) โดยดาวศุกร์จะเคลื่อนที่ตัดจากขอบด้านตะวันออกของดวงอาทิตย์ไปยังด้านตะวันตกใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 6 ชั่วโมง สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์โผล่พ้นจากขอบฟ้าเวลา 05:49 จนถึงเวลาประมาณ 11:49 น. (ตามเวลาประเทศไทย ณ กรุงเทพมหานคร) ของวันที่ 6 มิถุนายน 2555 โดยสามารถสังเกตเห็นได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย
ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เหมือนปรากฏการณ์สุริยุปราคา ปรากฏการณ์จันทรุปราคา แต่สำหรับปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ใช้เวลากว่าศตวรรษถึงจะเกิดขึ้น 2 ครั้ง และแต่ละครั้งใช้ระยะเวลาห่างกัน 8 ปี ซึ่งปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในรอบศตวรรษนี้ ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ส่วนครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555 หากพลาดการชมปรากฏการณ์ในครั้งนี้คงต้องรอไปอีก 105 ปี โดยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2660 และวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2668
ประวัติศาสตร์การบันทึกการสังเกตปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เริ่มมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยมีการบันทึกการสังเกตในประวัติศาสตร์ 6 ครั้ง คือ ค.ศ.1639, 1761, 1769, 1874, 1882 และ 2004 นักดาราศาสตร์ใช้ปรากฏการณ์นี้เพื่อศึกษาระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ แทนที่จะใช้ปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ซึ่งเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย ประมาณ 13 ครั้งในรอบ 100 ปี แต่เนื่องจากดาวพุธอยู่ห่างจากโลกมาก การคำนวณหาระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์จึงไม่สามารถวัดได้อย่างแม่นยำ นักดาราศาสตร์จึงหันมาใช้ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์มาคำนวณหาระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์แทน เนื่องจากดาวศุกร์อยู่ห่างจากโลกเพียง 38 ล้านกิโลเมตร หรือคิดเป็นเพียงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับดาวพุธที่อยู่ห่างถึง 77 ล้านกิโลเมตร แต่อย่างไรก็ตาม วงโคจรของดาวศุกร์มีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธเกือบ 2 เท่า ดังนั้นดาวศุกร์จึงมีโอกาสที่จะโคจรมาอยู่ข้างหน้าดวงอาทิตย์พอดี น้อยกว่าดาวพุธ จึงทำให้ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านดวงอาทิตย์เกิดขึ้นได้เพียงสองครั้งในช่วงเวลากว่า 100 ปี เท่านั้น
วัฏจักรของการเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ 1 รอบ ใช้ระยะเวลานานถึง 88,756 วัน หรือ 243 ปี ในแต่ละรอบจะเกิดปรากฏการณ์ 1 คู่ ซึ่งแต่ละคู่จะเว้นระยะเวลาห่างกันประมาณ 121.5 ± 8 ปี ดังนี้
ศตวรรษที่ 16
|
7 ธันวาคม พ.ศ. 2174 (ค.ศ. 1631)
|
4 ธันวาคม พ.ศ. 2182 (ค.ศ. 1639)
|
ศตวรรษที่ 17
|
6 มิถุนายน พ.ศ. 2304 (ค.ศ. 1761)
|
3 มิถุนายน พ.ศ. 2312 (ค.ศ. 1769)
|
ศตวรรษที่ 18
|
9 ธันวาคม พ.ศ. 2417 (ค.ศ. 1874)
|
6 ธันวาคม พ.ศ. 2425 (ค.ศ. 1882)
|
ศตวรรษที่ 20
|
8 มิถุนายน พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004)
|
6 มิถุนายน พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012)
|
ศตวรรษที่ 21
|
11 ธันวาคม พ.ศ. 2660 (ค.ศ. 2117)
|
8 ธันวาคม พ.ศ. 2668 (ค.ศ. 2125)
|
ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 จะสามารถสังเกตเห็นได้ทั้งหมดในแถบมหาสมุทร แปซิฟิค และทางตะวันออกของประเทศออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยจะสามารถสังเกตเห็นได้ในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยปรากฏการณ์จะเริ่มต้นตั้งแต่เวลาประมาณ 05:09 น. ก่อนฟ้าสางเล็กน้อย ดาวศุกร์จะผ่านสัมผัสขาเข้าด้านใน เข้ามาอยู่หน้าดวงอาทิตย์เรียบร้อยแล้วก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ชาวไทยจะได้เห็นภาพดวงอาทิตย์ที่แปลกตาที่สุดในรอบหลายร้อยปี เพราะจะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นจุดดำๆ บนดวงอาทิตย์ที่กำลังโผล่พ้นจากขอบฟ้า และค่อยๆ เคลื่อนจากขอบด้านตะวันออกไปด้านตะวันตก และสิ้นสุดในเวลา 11:49 น. ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในครั้งนี้กินเวลาทั้งสิ้น 6 ชั่วโมง 39 นาที 58 วินาที แต่ชาวไทยอาจสังเกตปรากฏการณ์ได้ไม่ตลอดช่วงการเกิดปรากฏการณ์ เนื่องจากดวงอาทิตย์ขึ้นหลังจากเริ่มปรากฏการณ์ไปแล้ว (ดวงอาทิตย์ขึ้นที่กรุงเทพฯ เวลา 05:49 น. ตามเวลาในประเทศไทย)
แผนที่แสดงบริเวณที่สามารถทำการสังเกตปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์
ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555)
ภาพแสดงเส้นทางการเคลื่อนที่ผ่านดวงอาทิตย์ของดาวศุกร์ ในวันที่ 6 มิถุนายน 2555
ตารางแสดงช่วงเวลาการเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555
สัมผัส
|
เวลา (นาฬิกา)
|
เวลาสากล (UT)
|
เวลาประเทศไทย
|
สัมผัสที่ 1 (ขาเข้าด้านนอก)
|
22:09:29
|
05:09:29*
|
สัมผัสที่ 2 (ขาเข้าด้านใน)
|
22:27:26
|
05:27:26*
|
กึ่งกลาง
|
01:29:28
|
08:32:17
|
สัมผัสที่ 3 (ขาออกด้านใน)
|
04:31:30
|
11:32:15
|
สัมผัสที่ 4 (ขาออกด้านนอก)
|
04:49:27
|
11:49:46
|
หมายเหตุ * ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในประเทศไทย เนื่องจากดวงอาทิตย์ขึ้นที่กรุงเทพฯ เวลา 05:49 น.
ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ดาวศุกร์จะเริ่มสัมผัสที่ขอบด้านนอกทางด้านตะวันออกของดวงอาทิตย์ค่อนไปทางเหนือในเวลา 05:09:29 น. และจะค่อย ๆ เคลื่อนที่ผ่านเข้ามาบนหน้าดวงอาทิตย์หมดทั้งดวงที่เวลา 05:27:26 น. ช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยจะยังไม่สามารถสังเกตเห็นได้เนื่องจากดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 05:49 น. ดังนั้น ชาวไทยจะเริ่มเห็นปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 05:49 น. เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวศุกร์ได้เคลื่อนที่ผ่านเข้ามาอยู่หน้าดวงอาทิตย์หมดทั้งดวงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเวลา 08:32:17 น. ดาวศุกร์จะเคลื่อนมาถึงกึ่งกลางของเส้นทางการผ่านหน้าดวงอาทิตย์ หลังจากนั้นดาวศุกร์จะเคลื่อนที่ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ไปจนเริ่มสัมผัสขอบทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของดวงอาทิตย์ในเวลา 11:32:15 น. และสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 11:49:46 น. ดาวศุกร์ใช้เวลาเคลื่อนที่ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ทั้งหมด 6 ชั่วโมง 39 นาที 58 วินาที โดยผู้สังเกตในประเทศไทยจะเห็นปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ครั้งนี้นานเกือบ 6 ชั่วโมง
ภาพจำลองการเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์หน้าดวงอาทิตย์ในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ที่สังเกตจากประเทศไทย
การสังเกตปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์อย่างปลอดภัย
เนื่องจากปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เป็นการสังเกตดวงอาทิตย์โดยตรง จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ห้ามสังเกตด้วยตาเปล่า การจ้องมองดวงอาทิตย์โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน อาจนำอันตรายมาสู่ดวงตาถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่มีกำลังขยาย เช่น กล้องโทรทรรศน์ชนิดต่างๆ กล้องสองตา หรือแม้กระทั่งกล้องถ่ายภาพ DSLR ที่ติดเลนส์ที่มีกำลังขยายสูง อุปกรณ์เหล่านี้มีคุณสมบัติรวมแสงและความร้อน เมื่อนำมาใช้ในการสังเกตดวงอาทิตย์ ภาพของดวงอาทิตย์ที่ได้จากอุปกรณ์ดังกล่าวจะมีความสว่างจ้ามาก อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการมองเห็นอย่างถาวรทันที
วิธีที่ 1 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรง
เป็นวิธีการการสังเกตดวงอาทิตย์ด้วยตาผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์ กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสง แว่นตาดูดวงอาทิตย์ที่ทำจากแผ่นพอลิเมอร์ดำหรือแผ่นกรองแสงไมลาร์ หรืออุปกรณ์ง่ายๆ เช่น กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า
ตัวอย่างอุปกรณ์ช่วยในการสังเกตการณ์
- กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสง
แผ่นกรองแสงแบบกระจกเคลือบโลหะ
กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสง แผ่นกรองแสงแบบกระจกเคลือบโลหะเมื่อนำมาใช้สังเกตปรากฏการณ์จะเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีส้ม
- แว่นตาดูดวงอาทิตย์ทำจากแผ่นกรองแสงชนิดไมลาร์หรือพอลิเมอร์ดำ แผ่นกรองแสงชนิดไมลาร์เมื่อนำมาใช้สังเกตปรากฏการณ์จะเห็นดวงอาทิตย์จะมีสีออกขาวหรือสีฟ้า ส่วนแผ่นกรองแสงพอลิเมอร์ดำเมื่อนำมาใช้สังเกตปรากฏการณ์จะเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีออกส้ม
แผ่นกรองแสงชนิดไมลาร์
ภาพที่มองเห็นจากแผ่นกรองแสงไมลาร์
- กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะเบอร์ 14 หรือมากกว่า เมื่อนำมาใช้สังเกตปรากฏการณ์จะเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีเขียว
ไม่ควรใช้ฟิล์มเอกซเรย์ ฟิล์มถ่ายรูปใช้แล้ว แผ่นซีดี แว่นกันแดด กระจกรมควัน แผ่นฟิล์มกรองแสงสีดำที่ใช้ติดกระจกรถยนต์แม้จะมีสีดำสนิทก็ตาม แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยต่อสายตา เพราะสิ่งเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพในการกรองแสงไม่เพียงพอ ถึงแม้จะกรองความเข้มแสงออกไปได้ แต่ยังไม่สามารถกรองแสงบางช่วงคลื่นที่เป็นอันตรายต่อสายตาออกไปได้
การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงจึงต้องมีอุปกรณ์กรองแสงที่มีคุณภาพสำหรับกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ ขณะทำการสังเกตไม่ควรจ้องดวงอาทิตย์นานเกิน 5 วินาทีต่อครั้ง และควรหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย
วิธีที่ 2 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม
เป็นการดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพหรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อมเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยไม่เกิดอันตรายต่อดวงตาและช่วยให้สามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน มีวิธีการดังนี้
- ใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงจากดวงอาทิตย์แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ใกล้ตา
- การฉายภาพดวงอาทิตย์จากกล้องสองตา โดยทั่วไปแล้วกล้องสองตาเป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างที่จะหาได้ง่ายที่สุด ซึ่งกล้องสองตาขนาดเล็กทั่วไปเหล่านี้มักมีกำลังขยายประมาณ 7 – 10 เท่า
ภาพแสดงการฉายภาพดวงอาทิตย์จากกล้องสองตา
- การฉายภาพดวงอาทิตย์จากกล้องโซลาร์สโคป (Solarscope) ใช้หลักการรวมแสงให้ไปฉายบนฉากรับภาพ
การฉายภาพดวงอาทิตย์จากกล้องโซลาร์สโคป
- ประดิษฐ์กล้องรูเข็มด้วยวิธีง่าย ๆ โดยการเจาะรูเล็กๆ บนวัสดุที่ต้องการ นำไปส่องกับแดด แสงแดดก็จะลอดผ่านรูที่เจาะไว้ตกลงบนฉาก ซึ่งอาจเป็นกระดาษ พื้นโต๊ะ หรือพื้นดิน รูปร่างของรูที่เจาะไม่มีผลต่อภาพบนฉาก แต่จะมีผลต่อความคมชัดและความสว่างของภาพ โดยรูปขนาดเล็กจะให้ภาพที่คมชัดแต่มีความสว่างน้อย รูขนาดใหญ่จะให้ความสว่างมากแต่ความคมชัดของภาพจะลดน้อยลง
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
Download หนังสือปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์
Download คู่มือชมปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์
|